กฎหมาย

ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองดูแลจากกฎหมายหลากหลายฉบับที่สำคัญมากได้แก่

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 56 ระบุถึงสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลาย ทางชีวภาพ มาตรา 79 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล [ รายละเอียดเพิ่มเติม... ]

  • พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

    พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้กำหนดให้มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะได้มีการคุ้มครอง ควบคุม ดูแลระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (habitat) ของพืชและสัตว์ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้ามเก็บหา นำไม้หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นออกไป ห้ามนำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายแก่สัตว์ ห้ามเก็บหา นำออกกล้วยไม้ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายดอกไม้ ใบไม้หรือผลไม้ ห้ามดำเนินกิจกรรมเพื่อหาผลประโยชน์ [ รายละเอียดเพิ่มเติม... ]

  • พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

    พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ห้ามมิให้บุคคลใดทำไม้ เก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้น หากเห็นสมควรกำหนดป่าอื่นใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อรักษาสภาพป่าไม้ ของป่า หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น สามารถกระทำได้โดยออกกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [ รายละเอียดเพิ่มเติม... ]

  • พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537

    พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ตลอดจนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดพืช ศัตรูพืช หรือพาหะจากแห่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม กำหนดให้พืชที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งการนำเข้า หรือนำผ่านต้องได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร และอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะเพื่อการทดลองหรือวิจัย [ รายละเอียดเพิ่มเติม... ฉบับที่ 1 | ฉบับที่ 2 ]

  • พระราชบัญญัติบำรุงพันธุ์สัตว์ พ.ศ. 2509

    พระราชบัญญัติบำรุงพันธุ์สัตว์ พ.ศ. 2509 กำหนดให้มีการป้องกันและควบคุมสัตว์สงวนพันธุ์เพื่อใช้ทำพันธุ์ ห้ามตอน ห้ามฆ่า หรือส่งสัตว์สงวนพันธุ์ออกนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต [ รายละเอียดเพิ่มเติม... ]

  • พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและนำเข้าในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

    พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและนำเข้าในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ควบคุมการนำเข้าและส่งออก โดยพระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2518 และประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร 11 ฉบับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ได้กำหนดรายชื่อสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า ปลาทะเลสวยงาม 400 ชนิด สัตว์น้ำอื่น ๆ 258 รายการ เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำออกนอกประเทศไทย โดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตตามกำหนดในกฎกระทรวง [ รายละเอียดเพิ่มเติม... ]

  • พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

    พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ได้มีการประกาศกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อที่จะคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ตลอดจนมีการประกาศกำหนดชนิดสัตว์ป่าสงวน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายาก จำนวน 15 ชนิด (เดิม 9 ชนิด) รวมทั้งมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติให้ทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora, CITES) และกำหนดการควบคุมการนำเข้า ส่งออก ส่งเสริมการขยายพันธุ์สัตว์ป่าบางชนิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มประชากร อนุรักษ์ชนิดพันธุ์ และลดความกดดันที่เกิดจากการล่า [ รายละเอียดเพิ่มเติม... ]

  • พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

    พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติอันโดดเด่นพิเศษเฉพาะ หรืออันอาจถูกทำลายได้ง่าย เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องมีการจัดการโดยเฉพาะ และมีการคุ้มครองตามที่เหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่ [ รายละเอียดเพิ่มเติม... ]

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

    พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542ให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น และพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า โดยกำหนดให้มีการขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ในกรณีที่เก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชนั้นหรือส่วนใดของพันธุ์พืชไปใช้เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง และวิจัยเพื่อประโยชน์ในทางการค้า [ รายละเอียดเพิ่มเติม... ]