นโยบาย มาตรการ

มาตรา 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กำหนดให้ภาคีจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ระดับชาติ เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำนโยบายและมาตรการระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ด้วยเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกรอบและทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของประเทศ แม้ว่าในขณะนั้นประเทศไทยจะยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ได้มีการจัดทำและใช้เป็นกรอบการดำเนินงานระดับชาติ (ระยะเวลา 5 ปี) แล้ว จำนวน 3 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 และที่ 2 นั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พิจารณาดำเนินการ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อยกร่างและจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เดิม) ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงาน

สำหรับการจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ฉบับที่ 3 เป็นการดำเนินการภายใต้คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีสำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นฝ่ายเลขานุการ การจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์ฯ ทั้งสามฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้มีนโยบายระดับชาติ ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพครอบคลุมในทุกประเด็น ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรา 6 ของอนุสัญญาฯ และการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทของหน่วยงานนั้นๆ

นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ได้ผ่านการพิจารณา ตรวจสอบ และกลั่นกรองอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งการจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ตลอดจนการเวียนเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และนำเสนอคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ/คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามลำดับ

ฉบับที่ คณะกรรมการฯ เห็นชอบ คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ สาระสำคัญ
1. นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2541 – 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2540 15 กรกฎาคม 2540 การเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่บุคลากร การให้ความรู้ความตระหนักแก่สาธารณชน การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พื้นที่คุ้มครอง การสร้างแรงจูงใจให้แก่ท้องถิ่นในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองชนิดพันธุ์และสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์และระบบนิเวศที่อยู่ใน สภาพวิกฤต ตลอดจนการควบคุมและติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ
2. นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2546 – 2550 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544 11 มิถุนายน 2545 การลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย การสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้เพื่อเป็นป่าชุมชนและเพื่อประโยชน์ใช้สอย การสำรวจวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืช สัตว์ แมลง และจุลินทรีย์ในพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนทุกระดับ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การรณรงค์ให้มี ีการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ป่าชุมชนที่มีอยู่ การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย
3. นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนพ.ศ. 2551 – 2555 คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ เห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 15 มกราคม 2551 การเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นฐานที่มั่นคงของการดำรงชีวิตของคนไทย ควบคู่กับการวิจัยคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพให้นำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างกลไกในการเข้าถึงและมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม