การพัฒนา CHM ในประเทศไทย


กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

การพัฒนา CHM ในประเทศไทย

ประเทศไทยเริ่มการพัฒนากลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตามหลักการและวัตถุประสงค์ของกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่จะเสริมสร้างสมรรถภาพในการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะเอื้ออำนวยในการนำเอาข้อมูลจากต่างประเทศมาใช้ประโยชน์ ตลอดจนก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ขึ้น

กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร (Clearing-House Mechanism) ในประเทศไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงสถานภาพการจัดการและการถ่ายทอดข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศเป็นหลัก โดยรูปแบบกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร กำหนดขึ้นบนพื้นฐานของระดับการถ่ายทอดและการเข้าถึงข้อมูลในประเทศที่ได้จัดทำและพัฒนาแล้ว รวมถึงได้มีการพัฒนาระบบติดต่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการทางเทคโนโลยีของเครือข่ายข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การพัฒนากลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในประเทศไทยอาจดำเนินการได้ตามแนวทางดังนี้ คือ

 การเสาะหาและจัดทำบัญชีรายชื่อข้อมูลและผู้รับผิดชอบ

การพัฒนาระบบการถ่ายทอดข้อมูลตามหลักการของกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจะไม่เกิดประโยชน์หากไม่ทราบถึงแหล่งข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งในประเทศไทยนั้นมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ การศึกษา สำรวจ และวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เป็นที่ทราบทั่วกัน ดังนั้น การสำรวจ เสาะหา และจัดทำบัญชีรายชื่อข้อมูล และผู้รับผิดชอบจัดการข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อประกันว่าแหล่งข้อมูลที่สำคัญจะได้ถูกใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่ออำนวยการเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 พัฒนาเครือข่ายข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ

เมื่อทราบถึงแหล่งของข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญ การพัฒนาเครือข่าย เพื่อเอื้ออำนวยการเข้าถึงและถ่ายทอดข้อมูลย่อมเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ การพัฒนาเครือข่ายจำเป็็้นต้องตอบสนองความพร้อมของข้อมูล เพื่อให้การถ่ายทอดข้อมูลเป็นไปได้สูงสุด การพัฒนาเครือข่ายในรูปของระบบอินเตอร์เน็ตเป็นการพัฒนาที่ตอบสนองเฉพาะเทคโนโลยี เนื่องจากข้อมูลที่สำคัญส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกเก็บรวบรวมในลักษณะแฟ้มข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (computerized format) จึงไม่สามารถเข้าถึงโดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งระบบคอมพิวเตอร์เครือข่าย

 การประเมินความต้องการข้อมูลและเทคโนโลยี

เนื่องจากกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ได้กำหนดหลักการดำเนินงานให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ ผลจากการประเมินความต้องการของข้อมูลและเทคโนโลยีของเครือข่ายข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ควรนำไปใช้ในการพัฒนาการเข้าถึงข้อมูล และเทคโนโลยีที่ต้องการ เช่น การแยกข้อมูลที่อาจอยู่รวมกันเพื่อให้การนำไปใช้ง่ายขึ้น การให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบเก็บรวบรวมข้อมูลเฉพาะด้าน ตลอดจนการจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่วิธีการเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการที่อยู่ในเครือข่าย เป็นต้น

 การถ่ายทอดเทคโนโลยี

การถ่ายทอดเทคโนโลยียังเป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนในการพัฒนากลไก การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทางปฏิบัติเอง กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอาจไม่สามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีทุกประเภทได้ และน่าที่จะจำกัดบทบาทของตน และเอื้ออำนวยการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้โดยไม่เสียค่าตอบแทน ได้แก่ เทคนิคและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาวิจัย และการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ เป็นต้น ดังนั้น หากดำเนินงานตามแนวทางที่กำหนดขึ้น ประเทศไทยก็จะมีความพร้อมในการพัฒนากลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระดับหนึ่ง ซึ่งหากมีทรัพยากรในการดำเนินแนวทางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ก็จะทำให้มีระบบที่ได้พัฒนาตนเองจนสามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ และบทบาทหน้าที่ของกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตลอดจนมีความยั่งยืนในการดำเนินงาน