ความเป็นมา

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ความเป็นมาของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ในปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) ได้มีการยกร่างอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพขึ้น โดยองค์กรพัฒนาเอกชน IUCN (The World Conservation Union) และในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้รับการลงนามจาก 157 ประเทศ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วย สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development; UNCED) ในระหว่างวันที่ 5-14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ณ ริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล หลังจากนั้น อนุสัญญาฯ ได้เปิดให้ลงนามจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ซึ่งมี 167 ประเทศ และสหภาพยุโรป ได้ลงนามรับรองในอนุสัญญาฯ

วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

อนุสัญญาฯ กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประการ คือ

  • เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
  • ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
  • แบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงของนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพและนักกฎหมายระหว่าง ประเทศว่า เป็นความตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของความหลากหลายทางชีวภาพ ครอบคลุมการอนุรักษ์ทั้งชนิดพันธุ์ พันธุกรรม และระบบนิเวศ