การเข้าเป็นภาคี


อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเทศไทยกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเทศไทยได้ลงนามให้การรับรองอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) ในระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ณ ริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล

จากนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ขึ้น ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาวัตถุประสงค์และพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ควบคู่ไปกับกฎหมาย หลักของประเทศและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศ

ภายหลังการลงนามรับรองอนุสัญญาฯ ประเทศไทยได้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาฯ เพื่อเป็นการเตรียมการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เดิม) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และหน่วยประสานงานกลางประสานการดำเนินการภายใต้อนุสัญญาฯ ได้ดำเนินการ อนุวัตการตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้วยการจัดทำรายงานสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย และการจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2541-2545 พร้อมทั้งยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลาย ทางชีวภาพ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับนโยบาย มาตรการฯ ดังกล่าว พร้อมทั้งอนุมัติหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2540

ภายใต้นโยบาย มาตรการฯ ดังกล่าว สำนักงานฯ ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ติดตาม ประเมินผลและจัดทำรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานตามแนวทางและนโยบาย มาตรการฯ จัดทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ประเมินผลกระทบและลดผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ประสานการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในระดับจังหวัด ตลอดจนฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างความตระหนักด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น

นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เดิม) ได้นำเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเห็นชอบในการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาต ิและคณะรัฐมนตรี ตามลำดับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพโดยด่วน ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2547 ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ในลำดับที่ 188