กลยุทธ์ทั่วโลกสำหรับการอนุรักษ์

ความสำคัญของกลยุทธ์สำหรับการอนุรักษ์พืช

 พืชเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก และเป็นทรัพยากรหลักที่จะขาดเสียไม่ได้ของดาวเคราะห์ดวงนี้ นอกเหนือจากพืชที่มนุษย์เพาะปลูกและเก็บเกี่ยว เพื่อบริโภคเป็นอาหารและใช้ประโยชน์จากเส้นใยของพืชในการผลิตเครื่องนุ่งห่มและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยแล้ว ยังมีพืชป่าอีกมากมายหลายพันชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางวัฒนธรรมสูงยิ่ง และมนุษย์ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกนำมาใช้เป็นอาหาร ยารักษาโรค เชื้อเพลิง และเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องนุ่งห่ม และสร้างที่อยู่อาศัย นอกจากจะให้ประโยชน์มหาศาลแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์แล้ว พืชยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของโลก รวมทั้งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนพื้นโลก จึงได้มีการจัดทำและนำเสนอกลยุทธ์ทั่วโลกสำหรับการอนุรักษ์พืชขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และดำรงรักษาทรัพยากรพืชอันทรงคุณค่าไว้ให้คงอยู่ตลอดไป ซึ่งหัวใจสำคัญของกลยุทธ์นี้ คือ การอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ฯ ได้ระบุถึงประเด็นของการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ไว้ด้วย

สถานภาพ แนวโน้ม และสาเหตุของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

 ในปัจจุบันยังไม่มีทะเบียนรายชื่อของชนิดพันธุ์พืชทั่วโลกฉบับสมบูรณ์ แต่มีการประเมินไว้ว่าจำนวนรวมของชนิดพันธุ์พืชมีอยู่ประมาณ 300,000 ชนิด และน่าวิตกที่พืชหลายชนิดกำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หรือคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ การบริโภคและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากจนเกินขอบเขตจำกัด ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน มลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในขอบเขตที่กว้าง และด้วยอัตราที่สูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทุกชีวิตบนพื้นโลก ประชาคมโลกจึงต้องร่วมมือกันเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซี่งกลยุทธ์ทั่วโลกสำหรับการอนุรักษ์พืชนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยับยั้งการสูญเสียความหลากหลายของพันธุ์พืช เพื่อลดอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวม และตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

 ในปี พ.ศ. 2545 ที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 6 ได้ให้การรับรองกลยุทธ์ทั่วโลกสำหรับการอนุรักษ์พืช ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายระดับโลก 16 ข้อ สำหรับ ปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) โดยถือเป็นกรอบการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นได้ เนื่องจากประเทศภาคีสามารถนำเป้าหมายระดับโลกดังกล่าว ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาเป้าหมายที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและระดับภูมิภาคได้ เป้าหมายหลักของกลยุทธ์นี้คือการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายของพันธุ์พืชที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน อนึ่ง สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดแนวทางและเป้าหมายต่อไป คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเรามีความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืชชั้นสูงมากกว่าพืชในกลุ่มอื่นๆ และในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 8 ในปี พ.ศ. 2549 และ 10 ในปี พ.ศ. 2551 จะมีการพิจารณาทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายระดับโลกของกลยุทธ์ฯ ต่อไป