สถานภาพ

พิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม


พิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ประกอบด้วย 36 มาตรา แบ่งเป็น 4 ส่วน

ส่วนที่ 1) ส่วนนำ ประกอบด้วยที่มา และหลักการที่ใช้ในพิธีสารนาโงยาฯ ความเท่าเทียมในการเจราจาต่อรอง ความสำคัญของทรัพยากรพันธุกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการปรับตัวและการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิของชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมและชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ส่วนที่ 2) ข้อกำหนดทั่วไป ประกอบด้วยวัตถุประสงค์และขอบเขตของพิธีสารนาโงยาฯ

ส่วนที่ 3) ข้อกำหนดหลัก โดยเนื้อหาจะเน้นในเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ การเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ข้อพิจารณาพิเศษ ได้แก่ การวิจัยที่ไม่ได้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาเป็นพิเศษ สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นการแพร่ระบาดของไข้หวัด ความมั่นคงทางอาหาร และกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์พหุภาคีระดับโลก ซึ่งจัดเป็นประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้น โดยจะเป็นกลไกที่นำมาใช้ในการจัดการทรัพยากรพันธุกรรมที่อยู่ในสถานภาพข้ามแดน และการจัดการทรัพยากรพันธุกรรมที่ไม่สามารถมีการขออนุญาตตามหลักการที่เรียกว่า Prior Informed Consent (PIC)

ส่วนที่ 4) ข้อกำหนดสนับสนุน ได้แก่ Non-Parties การติดตามและรายงานผล รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพิธีสาร การลงนาม ตลอดจนการบังคับใช้ เป็นต้น

พิธีสารนาโงยาฯ เป็นเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่สามารถใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำกฎหมายภายในประเทศในเรื่องของการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ และใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เมื่อทรัพยากรพันธุกรรมที่มีการเข้าถึงถูกนำออกนอกประเทศ และเมื่อทรัพยากรดังกล่าวอยู่ในขอบเขตอำนาจของประเทศผู้นำไปใช้ประโยชน์ และประเทศไทยในฐานะภาคีอนุสัญญาฯ จะต้องมีการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ รวมถึงข้อกำหนดที่ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ฯ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ยกร่างระเบียบคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเข้าถึงและได้รับประโยชน์ตอบแทนจากทรัพยากรชีวภาพ พ.ศ. ... (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ได้เห็นชอบระเบียบคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเข้าถึงและได้รับประโยชน์ตอบแทนจากทรัพยากรชีวภาพ พ.ศ. ...ดังกล่าว และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2554 ) ซึ่งใช้เป็นกรอบในการจัดทำพิธีสารนาโงยาฯ จึงเห็นว่าประเทศไทยควรดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลงนามรับรองในพิธีสารฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนดในระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 – 1 กุมภาพันธ์ 2555 และดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ

สมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ในการประชุม สมัยที่ 10 ระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคม 2553 ณ เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น ได้รับรองพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมฯ และเห็นชอบให้มีการดำเนินการ

  • - ให้มีการลงนามรับรองพิธีสารฯ ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2555 โดยเรียกร้องให้ประเทศภาคีมีการลงนามและส่งมอบสัตยาบันในโอกาสแรกเพื่อให้พิธีสารฯ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
  • - ให้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจระหว่างรัฐบาล (Open-ended Ad Hoc Intergovernmental Committee) สำหรับพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมฯ เพื่อเตรียมการที่จำเป็นสำหรับการประชุมภาคีพิธีสารฯ สมัยที่ 1 โดยกำหนดมีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ครั้งแรกขึ้น ระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2554 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-27 เมษายน 2555 ตามลำดับ

ประเทศไทยโดยลงนามรับรองพิธีสารนาโงยาฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 จนถึงปัจุบัน (เดือนกันยายน 2557) มีการให้สัตยาบันสาร 53 ประเทศ และพิธีสารนาโงยาฯ มีผลบังคับใช้ วันที่ 13 ตุลาคม 2557 โดยการประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารนาโงยาฯ สมัยที่ 1 วันที่ 13-17 ตุลาคม 2557 ณ เมือง Pyeongchang สาธารณรัฐเกาหลี

รายละเอียดเพิ่มเติม >>>

กลไกการเผยแพร่ข้อมูลความปลอดภัยทางชีวภาพ


Biosafety Clearing-House: BCH จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ในการดำเนินงาน และเอื้ออำนวยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมระหว่างภาคีพิธีสารฯ สมัชชาภาคีพิธีสารฯ ได้พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ มาตั้งแต่การประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารฯ สมัยที่ 1 จนครั้งล่าสุดในการประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารฯ สมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 12-16 พฤษภาคม 2551 ณ นครบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

การดำเนินงานของประเทศไทย

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจัดตั้งและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ และการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม รวมทั้งสนับสนุนการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลทั้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ และศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ข้อมูลในBCHของประเทศไทย

ปัจจุบันข้อมูลที่มีอยู่ใน BCH ของประเทศไทยได้แก่ กฎหมาย ข้อบังคับและแนวทางระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม กฎหมายข้อบังคับและแนวทางระดับประเทศที่ใช้อยู่สำหรับการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นอาหาร อาหารสัตว์ และในกระบวนการผลิต รายละเอียดการติดต่อกับหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแล หน่วยประสานงานแห่งชาติ และการติดต่อในกรณีฉุกเฉิน ข้อตกลงและความตกลงในระดับทวิภาคี พหุภาคี และภูมิภาค ขั้นตอน หลักเกณฑ์ และวิธีการขออนุญาตการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ข้อมูลการใช้กฎและข้อบังคับควบคุมการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมภายในประเทศ

ข้อมูลที่ควรมีในBCHเป็นอย่างน้อย

  • a) กฎหมาย ข้อบังคับและแนวทางระดับประเทศที่ใช้อยู่สำหรับกระบวนการข้อตกลงในการแจ้งล่วงหน้า
  • b) กฎหมายข้อบังคับและแนวทางระดับประเทศที่ใช้อยู่ สำหรับการนำเข้า LMOs เพื่อใช้โดยตรงเป็นอาหาร อาหารสัตว์ และการผลิต
  • c) ข้อตกลงและความตกลงในระดับทวิภาคี พหุภาคี และภูมิภาค
  • d) รายละเอียดการติดต่อกับ Competent National Authority, National Focal Point และการติดต่อในกรณีฉุกเฉิน
  • e) รายงานที่เสนอโดยภาคีว่าด้วยการดำเนินงานตามพิธีสารฯ
  • f) ข้อตัดสินใจ (decision) ของภาคีว่าด้วยการขนผ่าน (transit) LMOs
  • g) กรณีการเคลื่อนย้ายข้ามแดน LMOs อย่างไม่จงใจที่อาจส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
  • h) กรณีการเคลื่อนย้ายข้ามแดน LMOs อย่างผิดกฎหมาย
  • i) ข้อตัดสินใจเป็นมติสุดท้ายเกี่ยวกับการนำเข้าและปลดปล่อย LMOs ภายในประเทศ
  • j) ข้อมูลการใช้กฎและข้อบังคับควบคุมการนำเข้า LMOs ภายในประเทศ
  • k) ข้อตัดสินใจและมติสุดท้ายการใช้ LMOs โดยตรงเป็นอาหาร อาหารสัตว์ และกระบวนการผลิต
  • l) ข้อตัดสินใจและมติสุดท้ายการใช้ LMOs โดยตรงเป็นอาหาร อาหารสัตว์ และกระบวนการผลิตตามกฎระเบียบภายในประเทศ
  • m) แถลงการณ์ (declaration) เกี่ยวกับการใช้ LMOs อย่างจงใจเพื่อเป็น อาหาร อาหารสัตว์ และกระบวนการผลิต
  • n) การทบทวนและเปลี่ยนแปลงข้อตัดสินใจการเคลื่อนย้าย LMOs ข้ามแดนอย่างจงใจ
  • o) กรณี LMOs ที่ได้รับการยกเว้นโดยประเทศภาคี
  • p) กรณีการเคลื่อนย้ายข้ามแดน LMOs อย่างจงใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นขณะเดียวกับการแจ้งการเคลื่อนย้ายโดยประเทศผู้นำเข้า
  • q) ข้อมูลสรุปการประเมินความเสี่ยงและการทบทวนประเด็นสิ่งแวดล้อม

รายละเอียดเพิ่มเติม >>>

ความร่วมมือระหว่างอนุสัญญา


ความร่วมมือระหว่างอนุสัญญาและสนธิสัญญา

อนุสัญญาและสนธิสัญญาที่มีความเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเดิมมี 5 อนุสัญญา ได้แก่ Ramsar Convention on Wetlands (Ramsar) Convention on International Trade in Endangered Species (CITES) World Heritage Convention (WHC) Convention on Migratory Species (CMS) และ Convention on Biological Diversity (CBD) ได้จัดทำความตกลงร่วมกัน และจัดตั้ง Biodiversity Liaison Group ขึ้นในปี 2547 ตามการร้องขอของสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในการประชุมครั้งที่ 7 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย (Dicision VII/26) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอนุสัญญาที่มีความเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ และในปี 2549 ได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น ได้แก่ International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture

Biodiversity Liaison Group ได้มีการประชุมแล้ว จำนวน 7 ครั้ง ดังนี้คือ

  1. ครั้งที่ 7 วันที่ 9 เมษายน 2552 (Paris, France)
  2. ครั้งที่ 6 วันที่ 31 พฤษภาคม 2551 (Bonn, Germany)
  3. ครั้งที่ 5 วันที่ 14 กันยายน 2549 (Gland, Switzerland)
  4. ครั้งที่ 4 วันที่ 4 ตุลาคม 2548 (Bonn, Germany)
  5. ครั้งที่ 3 วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 (Gland, Switzerland)
  6. ครั้งที่ 2 วันที่ 16 สิงหาคม 2547 (Geneva, Switzerland)
  7. ครั้งที่ 1 วันที่ 3 มิถุนายน 2547 (Paris, France)