ทะเบียนรายการชนิดพันธุ์พืชที่สำคัญที่ใกล้สูญพันธุ์และหายาก และชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น


ทะเบียนรายการชนิดพันธุ์พืชที่สำคัญที่ใกล้สูญพันธุ์และหายาก และชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น

สถานภาพของชนิดพรรณพืชเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดความสำคัญก่อนและหลัง และการวางมาตรการในการอนุรักษ์และจัดการพรรณพืชอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยการศึกษาด้านพรรณพืชที่มีอยู่อย่างจำกัดทั้งบุคลากร ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตลอดจนงบประมาณ และนโยบาย ทำให้การศึกษาวิจัยพรรณพืชภายใต้โครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) ยังไม่แล้วเสร็จ ประเทศไทยจึงยังไม่มีการศึกษาและจัดทำบัญชีรายชื่อชนิดพรรณพืชตามสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้กิจกรรมการอนุรักษ์พรรณพืช อาทิ การเก็บรวบรวมเชื้อพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนการขยายพันธุ์พืชที่ถูกคุกคาม เป็นไปอย่างสับสนและยากลำบาก เนื่องจากยังขาดข้อมูลพื้นฐานในการจำแนกพรรณพืชที่สมบูรณ์

ในปี พ.ศ. 2548 โดยความร่วมมือกับสำนักงานหอพรรณไม้ได้ดำเนินการศึกษาสำรวจ วิเคราะห์สถานภาพพรรณพืชที่พบในประเทศไทย เพื่อจัดสถานภาพพรรณพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ พรรณพืชที่ถูกคุกคาม พรรณพืชที่หายาก และพรรณพืชเฉพาะถิ่น รวมถึงการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ในการจำแนกสถานภาพพรรณพืชของ IUCN เพื่อนำไปสู่การจัดทำเป็นทะเบียนรายชื่อชนิดพรรณพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ พรรณพืชที่ถูกคุกคาม พรรณพืชหายาก และพรรณพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย สำหรับใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองพรรณพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ พรรณพืชที่ถูกคุกคาม พรรณพืชหายาก และพรรณพืชเฉพาะถิ่น และกำหนดนโยบายการอนุรักษ์ระบบนิเวศที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพรรณพืชนั้น รวมถึงนำไปสู่การดำเนินงานลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพลงให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2553 ดังเจตนารมณ์ของประชาคมโลก


ข้อมูลที่ได้จากการดำเนินงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองพรรณพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ พรรณพืชที่ถูกคุกคาม พรรณพืชหายาก และพรรณพืชเฉพาะถิ่น และกำหนดนโยบายการอนุรักษ์ระบบนิเวศที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพรรณพืชนั้น การวางมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองชนิดพันธุ์พืช การนำไปสู่การพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของพรรณพืชของประเทศไทย การจัดทำเอกสารทะเบียนรายการสำหรับใช้เป็นเอกสารอ้างอิงทางวิชาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง