พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ


พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นพิธีสารภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันตามกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ปัจจุบันมีภาคี 168 ประเทศ (กันยายน 2557) ครอบคลุม การเคลื่อนย้ายข้ามแดน การส่งผ่าน การดูแล และการใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อาจมีผลกระทบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์

พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ กำหนดวัตถุประสงค์ตามแนวทางระมัดระวังล่วงหน้า (precautionary approach) ตามที่ระบุไว้ในหลักการข้อ 15 ของปฏิญญาริโอ (Rio Declaration) ในการประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ณ นครริโอ เดอจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ปี พ.ศ. 2535 ว่า

  • ให้มีระดับการป้องกันที่เพียงพอในการเคลื่อนย้าย ดูแล และใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ที่อาจมีผลกระทบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืน อย่างปลอดภัย
  • คำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขอนามัยมนุษย์
  • ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเคลื่อนย้ายข้ามแดน (transboundary movement)

ขอบเขต

  • ครอบคลุม การเคลื่อนย้ายข้ามแดน การส่งผ่าน การดูแล และการใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อาจมีผลกระทบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
  • ไม่ครอบคลุม การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นเภสัชภัณฑ์สำหรับมนุษย์

สาระสำคัญของพิธีสารฯ

พิธีสารฯ กำหนดกระบวนการในการพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

ความตกลงการแจ้งล่วงหน้า (Advance Informed Agreement - AIA)

  • ควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามประเทศของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มีเจตนาปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนการเห็นชอบให้มีการนำเข้า (มาตรา 7-10)

กระบวนการสำหรับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้เป็นอาหารหรืออาหารสัตว์ หรือใช้ในกระบวนการผลิต

  • กำหนดให้แจ้งการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ภายในประเทศ รวมถึงการวางจำหน่ายในท้องตลาด ผ่านทางกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ (มาตรา 11)
  • กำหนดให้มีเอกสารข้อมูลกำกับอย่างชัดเจนว่า “อาจประกอบด้วย” (“may contain”) สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (มาตรา 18)

การประเมินและจัดการความเสี่ยง และการใช้แนวทางระมัดระวังล่วงหน้า

  • ให้มีการประเมินความเสี่ยงบนพื้นฐานและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ก่อนการตัดสินใจ (มาตรา 15)
  • จัดทำมาตรการ กลไกในการจัดการและควบคุมความเสี่ยง เพื่อบังคับใช้ในระดับที่จำเป็น และกำหนดมาตรการให้มีการประเมินความเสี่ยงก่อนการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (มาตรา 16)
  • นอกจากนั้น ยังกำหนดกลไกเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อาทิ

  • กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ
  • ให้มีการจัดตั้งกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลวิทยาศาสตร์ วิชาการ สิ่งแวดล้อม กฎหมาย และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง (มาตรา 20)

  • การเสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรและองค์กรด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (มาตรา 22)
  • ประเด็นของความรับผิดและการชดใช้ความเสียหาย ที่ให้มีการเจรจาเพื่อกำหนดกฎและขั้นตอนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร์จภายใน 4 ปี (มาตรา 27)
  • ข้อกำหนดสนับสนุนอื่นๆ อาทิ

- ความตระหนักและการมีส่วนร่วมของสาธารณะ

- ข้อพิจารณาด้านสังคมเศรษฐกิจ

- กลไกและทรัพยากรทางการเงิน

- การปฏิบัติตาม

- การประเมินผล

การประชุมภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

  • ครอบคลุม การเคลื่อนย้ายข้ามแดน การส่งผ่าน การดูแล และการใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อาจมีผลกระทบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
  • ไม่ครอบคลุม การเคลื่อนย้ายข้ามแดนของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นเภสัชภัณฑ์สำหรับมนุษย์
  • สมัชชาภาคีพิธีสารฯ ได้มีการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง ดังนี้

    มติ COP-MOP สมัยที่ 1: สมัชชาภาคีพิธีสารฯ รับรองให้ศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านจากช่วงระยะนำร่อง เข้าสู่ช่วงระยะของการดำเนินงาน รับรองรูปแบบสำหรับการดำเนินงาน และสนับสนุนให้ภาคีพิธีสารฯ และผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มอื่นๆ ให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นแก่ศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารฯ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจในการนำเข้าหรือส่งออกสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งมีขึ้นก่อนที่พิธีสารฯ จะมีผลบังคับใช้ รวมทั้งได้ร้องขอให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ จัดทำกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่ไม่ใช่ทางระบบอินเตอร์เนต และศึกษาวิเคราะห์เกณฑ์ในการเสริมสร้างสมรรถนะและเกณฑ์ทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

    รายละเอียดเพิ่มเติม...

    มติ COP-MOP สมัยที่ 2: สมัชชาภาคีพิธีสารฯ รับรองโปรแกรมงานพหุวรรษ (multi-year programme of work) ประกอบด้วย 1) โครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของศูนย์ข้อมูลกลาง 2) เนื้อหาและการจัดการของข้อมูลข่าวสาร 3) การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารว่าด้วยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและประสบการณ์เกี่ยวเนื่อง 4) การเสริมสร้างสมรรถนะและความเป็นไปได้ในการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ต้องผ่านระบบอินเตอร์เนต และ 5) การทบทวนกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้สมัชชาภาคีพิธีสารฯ เชิญให้ภาคีพิธีสารฯ และผู้ใช้อื่นๆ จำแนกอุปสรรคในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่และหามาได้ และเชิญให้ประเทศ/ องค์การผู้บริจาคช่วยเหลือภาคีพิธีสารฯ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ และได้ร้องขอให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ยังคงสนับสนุนความพยายามเสริมสร้างสมรรถนะเพื่อสนองความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา สำหรับการมีส่วนร่วมในศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ

    รายละเอียดเพิ่มเติม...

    มติ COP-MOP สมัยที่ 3: สมัชชาภาคีพิธีสารฯ ร้องขอให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ดำเนินให้มีการแปลข้อมูลในศูนย์ข้อมูลกลาง ไปเป็นทั้งหกภาษาทางการของสหประชาชาติและตรวจสอบความปลอดภัยของศูนย์ข้อมูลกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกโดยบุคคลภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่และลดการสูญเสียข้อมูลข่าวสาร ให้ดำเนินการต่อเนื่องในกิจกรรมการเสริมสร้างสมรรถนะโดยร่วมกับองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ และจัดทำต่อไปในเรื่องศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มิได้อยู่บนพื้นฐานของระบบอินเตอร์เนต สำหรับประเทศที่ไม่พร้อมในการเข้าถึง ตัวอย่างเช่น การแจก CD-ROMs ทุกไตรมาส ให้แก่รัฐบาลที่ร้องขอ

    รายละเอียดเพิ่มเติม...

    มติ COP-MOP สมัยที่ 4: สมัชชาภาคีพิธีสารฯ เตือนให้ภาคีพิธีสารฯ จัดส่งข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมไว้ในศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยเฉพาะข้อตัดสินใจครั้งแรกในการเคลื่อนย้ายข้ามแดนสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมอย่างจงใจ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงตามข้อตัดสินใจดังกล่าว และข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจในการนำเข้าหรือส่งออกสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม รวมถึงการประเมินความเสี่ยงซึ่งมีขึ้นก่อนที่พิธีสารฯ จะมีผลบังคับใช้

    รายละเอียดเพิ่มเติม...

    รายละเอียดเพิ่มเติม >>>