คลังความรู้

ความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพ

  • คำว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ มาจาก biodiversity หรือ biological diversity ความหลากหลาย (diversity) หมายถึง มีมากมายและแตกต่าง ทางชีวภาพ (biological) หมายถึง ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต
  • ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือง่ายๆ คือ การที่มีชนิดพันธุ์ (species) สายพันธุ์ (genetic) และระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก
ความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร

ความหลากหลายทางชีวภาพมีอยู่ระหว่างสายพันธุ์ ระหว่างชนิดพันธุ์ และระหว่างระบบนิเวศ

  • ความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างสายพันธุ์ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ความแตกต่างระหว่างพันธุ์พืชและสัตว์ต่างๆ ที่ใช้ในการเกษตร ความแตกต่างหลากหลายระหว่างสายพันธุ์ ทำให้สามารถเลือกบริโภคข้าวจ้าว หรือข้าวเหนียว ตามที่ต้องการได้ หากไม่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ต่างๆ แล้ว อาจจะต้องรับประทานส้มตำปูเค็มกับข้าวจ้าวก็เป็นได้ ความแตกต่างที่มีอยู่ในสายพันธุ์ต่างๆ ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกสายพันธุ์ปศุสัตว์ และสัตว์ปีก เพื่อให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาดได้ เช่น ไก่พันธุ์เนื้อ ไก่พันธุ์ไข่ดก วัวพันธุ์นม และวัวพันธุ์เนื้อ เป็นต้น
  • ความหลากหลายระหว่างชนิดพันธุ์ สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปถึงความแตกต่างระหว่างพืชและสัตว์แต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น สุนัข แมว จิ้งจก ตุ๊กแก กา นกพิราบ และนกกระจอก เป็นต้น หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่าเขาลำเนาไพร เช่น เสือ ช้าง กวาง กระจง เก้ง ลิง ชะนี หมี และวัวแดง เป็นต้น พื้นที่ธรรมชาติเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย แต่ว่ามนุษย์ได้นำเอาสิ่งมีชีวิตมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และอุตสาหกรรม น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในความเป็นจริงพบว่ามนุษย์ได้ใช้พืชเป็นอาหารเพียง 3,000 ชนิด จากพืชที่มีท่อลำเลียง (vascular plant) ที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกถึง 320,000 ชนิด ทั้งๆ ที่ประมาณร้อยละ 25 ของพืชที่มีท่อลำเลียงนี้สามารถนำมาบริโภคได้ สำหรับชนิดพันธุ์สัตว์นั้น มนุษย์ได้นำเอาสัตว์เลี้ยงมาเพื่อใช้ประโยชน์เพียง 30 ชนิด จากสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทั้งหมดที่มีในโลกประมาณ 50,000 ชนิด (UNEP 1995)
  • ความหลากหลายระหว่างระบบนิเวศเป็นความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งซับซ้อน สามารถเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างระบบนิเวศประเภทต่างๆ เช่น ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน ทะเลสาบ บึง หนอง ชายหาด แนวปะการัง ตลอดจนระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ทุ่งนา อ่างเก็บน้ำ หรือแม้กระทั้งชุมชนเมือง ของเราเอง ในระบบนิเวศเหล่านี้ สิ่งมีชีวิตก็ต่างชนิดกัน และมีสภาพการอยู่อาศัยแตกต่างกัน
  • ความแตกต่างหลากหลายระหว่างระบบนิเวศ ทำให้โลกมีถิ่นที่อยู่อาศัยเหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ระบบนิเวศแต่ละประเภทให้ประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของมนุษย์แตกต่างกัน หรืออีกนัยหนึ่งให้ 'บริการทางสิ่งแวดล้อม' (environmental service) ต่างกันด้วย อาทิ ป่าไม้ทำหน้าที่ดูดซับน้ำ ไม่ให้เกิดน้ำท่วมและการพังทลายของดิน ส่วนป่าชายเลนทำหน้าที่เก็บตะกอนไม่ให้ไปทบถมจนบริเวณปากอ่าวตื้นเขิน ตลอดจนป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งจากกระแสลมและคลื่นด้วย

ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

ประเทศไทยร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ความหลากหลายทางชีวภาพได้มีส่วนสนับสนุนค้ำจุนให้วิถีชีวิตของคนไทยดำเนินไปโดยสมบูรณ์พูนสุข ไม่แร้นแค้น อดอยากหิวโหย ความหลากหลายทางชีวภาพทำให้อาหารไทยมีความหลากหลาย ในรูปแบบ กลิ่น และรส ความหลากหลายทางชีวภาพปรากฏในยาพื้นบ้าน ทั้งที่ใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และใช้บำรุงรักษาสุขภาพอนามัย ความหลากหลายทางชีวภาพยังทำให้คนไทยไม่ขาดเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต นอกจากนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นที่ชื่นชมในประเพณีไทยที่ยังคงสืบทอดมาจนปัจจุบัน
  • ความหลากหลายทางชีวภาพในวัฒนธรรมและประเพณีไทย

    ประเพณีไทยอย่างน้อย 25 ประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติตามความเชื่อทางวัฒนธรรมอย่างน้อย 40 เรื่องได้แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย ประเพณีและธรรมเนียมดังกล่าวเกี่ยวพันกับการใช้ประโยชน์พืชพรรณอย่างน้อย 200 ชนิด ที่ขาดเสียมิได้ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่แสดงถึงการเริ่มต้นฤดูทำนา ซึ่งเสริมสร้างขวัญกำลังใจและสิริมงคลแก่เกษตรกรไทย พระราชพิธีนี้ใช้พืชพรรณอย่างน้อย 20 ชนิด เช่น ข้าวเปลือก(Oryza sativa L.) ข้าวโพด (Zea mays L.) ถั่วเขียว (Vigna radiata (L.) Wilezek) งาดำ (Sesamum orientale L.) หญ้า (หญ้าขน Brachiaria mutica Stapf) เป็นต้นประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ไทยซึ่งนับตามจันทรคติ มีขึ้นในวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ในภาคเหนือประเพณีนี้ใช้ส่วนประกอบของพืชพรรณอย่างน้อย 25 ชนิด เช่น ดอกมะลิลา(Jasminum sambac Ait.) ฝักส้มป่อย (Acacia concinna (Willd.)DC.) น้ำขมิ้น(Curcuma longa L.) ดอกสารถี (Mammea siamensis Kosterm.) ดอกคำฝอย (Carthamus tinctorius L.) เป็นต้น

  • ความหลากหลายทางชีวภาพในสิ่งแวดล้อม

    ประเทศไทยมีพื้นที่บนบก 513,115 ตารางกิโลเมตร และมีที่ตั้งอยู่ในเขตสภาพภูมิอากาศแถบร้อนชื้น ณ ใจกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงก่อให้เกิดสภาพธรรมชาติอันหลากหลาย เป็นสะพานเชื่อมต่อสังคมสิ่งมีชีวิตจากเขตเหนือของโลกแถบเทือกเขาหิมาลัยและตอนใต้ของจีน กับคาบสมุทรมลายู รวมถึงสังคมสิ่งมีชีวิตแบบร้อนแห้งแล้งจากกัมพูชาและลาว จึงเป็นแหล่งกำเนิดของระบบนิเวศเขตร้อนหลากหลายประเภท ได้แก่

    • - ความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร
    • - ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่แห้งแล้งและกึ่งชื้น
    • - ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าไม้
    • - ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งภูเขา
    • - ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง
    • - ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งเกาะ
    • - ความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำในแผ่นดิน
  • ความหลากหลายทางชีวภาพในนโยบาย

    นโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพมี ดังนี้

    • - นโยบายรัฐบาล พ.ศ. 2557
    • - แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555-2558
    • - แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564
  • ความหลากหลายทางชีวภาพในกฏหมาย
  • ความหลากหลายทางชีวภาพในวิถีชีวิตไทย

    วิถีชีวิตของชาวชนบทมีความสัมพันธ์อย่างมากกับความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชและสัตว์ไม่น้อยกว่า 500 ชนิด ที่ได้เอื้ออำนวยต่อชีวิตของผู้คน ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่นไม้ที่ใช้ในการอยู่ไฟได้แก่ ไม้ติ้ว (Cratoxylum formosum (Jack) Dyer) ผิวหนังพุพองหรือคัน ก็จะใช้สบู่ดำ (Jatropha curcas L.) ต้มอาบ การดูแลทำความสะอาดร่างกายใช้กิ่งคนทา (Harrisonia perforata Merr.) และใช้น้ำยาง จากพลองเหมือด (Memecylon edule Roxb.) ถูฟัน หรือเคี้ยวยอดอ่อนจะทำให้ฟันแข็งแรงทนทานใช้หนามแท่ง (Catunaregam tomentosa (Blume ex DC.) Tirveng.) หรือใบหมี่(Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Rob.)สระผม เมล็ดกระทงลาย (Celastrus paniculata Willd.) มาหีบน้ำมันถวายพระ เปราะหอม ( Kaempferia galanga L.) เพื่อใช้ทำน้ำหอมไปวัด และปลูกเทียนกิ่ง(Lawsonia inermis L.) ไว้หน้าบ้านเพื่อไว้พอกหัวแม่มือที่มีอาการฟกช้ำจากการดำนา เป็นต้น

  • ความหลากหลายทางชีวภาพในอาหาร

    อาหารไทยมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมทั่วโลกและมีเอกลักษณ์โดดเด่นเพราะความแตกต่างหลากหลายในรสชาด กลิ่นสีสัน และรูปลักษณะ ทั้งนี้เนื่องความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

    • - ข้าว ข้าวไทย มีหลายสายพันธุ์ มีรสชาติ ความอ่อนนุ่ม ความเหนียวที่แตกต่างทำให้คนไทยได้เลือกรับประทาน ทั้งข้าวเหนียว และข้าวเจ้าตามความพึ่งพอใจ ข้าวเหนียวมาก ได้แก่ ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวเหนียวอุบล ข้าวเหนียวนุ่ม ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ ข้าวเจ้าหอมคลองหลวง ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี ข้าวอ่อนร่วมแต่ไม่แข็งได้แก่ ข้าวขาตาแห้ง ข้าวขาวปากหม้อ 148 ข้าวร่วมและแข็ง ได้แก่ ข้าวเสาไห้ ข้าวเหลืองประทิว ข้าวเฉี้ยงพัทลุง
    • - ผัก พืชผักพื้นเมืองจากทุกภาคของประเทศไทยมีมากกว่า 300 ชนิด ทำให้คนไทยสามารถเลือกรับประทานได้ตามรสนิยม ตามฤดูกาลและตามความปรารถนาของร่างกาย
    • - เครื่องเทศ เครื่องเทศจากพืชไม่น้อยกว่า 50 ชนิด มีน้ำมันหอมระเหยซึ่งให้กลิ่นและรสชาติที่บ่งบอกความเป็นอาหารไทย เครื่องเทศแห้ง เช่น พริกไทย (Piper nigrum L.) ขิง (Zingiber officinale Roscoe) เร่ว (Amomum xanthioides Wall.) กระวาน (Amomum testaceum Ridl.) กานพลู (Syzygium caryophyllus Bullock & Harrison) ขมิ้น (Curcuma longa L.) เป็นต้น
    • - ผลไม้ ผลไม้มีประมาณ 400 ชนิด เป็นไม้ปลูกประมาณ 120 ชนิด ไม้ป่าประมาณ 280 ชนิด และมีความแตกต่างหลากหลาย ตามฤดูกาล ไม้ผลเศรษฐกิจ เช่น ลองกอง (Aglaia dookkoo Griff.) กล้วย (Musa spp.) ทุเรียนซึ่งมีไม่น้อยกว่า 10 พันธุ์มะม่วง (Mangifer indica L.) ลำไย (Dimocarpus longan Lour.) มังคุด (Garcinia mangostana L.) เป็นต้น
  • ความหลากหลายทางชีวภาพในยาและการรักษาโรค

    ประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่เคยใช้ผลิตเป็นยาแผนโบราณกว่า 1,000 ชนิด การแพทย์พื้นบ้านและการใช้พืชสมุนไพรได้สืบทอด และสั่งสมอยู่ในสังคมไทยนานนับพันปี คนไทยทั่วไปมักมีความรู้พื้นบ้านในการรักษาโรคและอาการต่างๆ สมุนไพรที่ใช้มากในตำรับ ยาสมุนไพรไทย เช่น เหง้าขิง (Zingiber officinale Roscoe ) เปราะหอม (Kaempferia galaga L.) รากระย่อม (Rauvolfia serpentina Benth. ex Kurz) เมล็ดพุงทะลาย (Scaphium macropodum Beaumee) เกสรบัวหลวง (Nelumbo nucifera Gaertn.) เป็นต้น

ความหลากหลายทางชีวภาพรายจังหวัด


นิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่มากกว่า 3,500 ชนิด และยังมีผู้นำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาบางชนิดสามารถดำรงชีวิตได้ดีในสภาพธรรมชาติและกลายเป็นพืชและสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในขณะที่บางชนิดเข้ามาแล้วสามารถตั้งถิ่นฐานและมีการแพร่กระจายได้ดีในธรรมชาติ จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก หากไม่มีระบบการจัดการป้องกันและควบคุมอย่างทันท่วงที

คณะทำงานชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจึงมีความเห็นร่วมกันให้จัดทำรายการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานของประเทศไทยขึ้น เพื่อเผยแพร่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ร่วมกันระมัดระวังและตระหนักถึงผลเสียของการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มความระมัดระวังในการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่อาจมีศักยภาพรุกรานในประเทศไทย ซึ่งในการจัดทำรายการดังกล่าว คณะทำงานได้ร่วมกับนักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำคำนิยาม รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดกลุ่มชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม กำจัดของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันระมัดระวัง ป้องกัน การแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานได้อย่างเหมาะสม